5462 จำนวนผู้เข้าชม |
มีโอกาสอ่านคู่มือการับมือแผ่นดินไหวของเขตเมกุโระ ประเทศญี่ปุ่น ที่ศูนย์นักเรียนต่างชาติสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ได้แปลไว้เป็นภาษาไทย (เข้าไปดาวน์โหลดฉบับเต็มมาอ่านได้ที่นี่ค่ะ http://www.thaiembassy.jp/rte3/images/stories/_PDF/earthquake.pdf)
คำแนะนำในการตรวจเช็คความเรียบร้อยของบ้านหลายๆ ข้อ เจ้าของบ้านสามารถทำเองได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะบ้านที่อยู่ในเขตแผ่นดินไหวหรือภัยธรรมชาติเท่านั้น บ้านทั่วๆ ไปก็สามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องของความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกบ้านได้ เมื่อพบจุดที่ควรจะแก้ไขก็เรียกช่าง หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแลให้คำแนะนำแก้ไข เพื่อให้บ้านมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
เอกเขนกเห็นว่า คำแนะนำพวกนี้ ไม่ได้ยุ่งยากหรือต้องไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรมากเท่าไหร่ ก็เลยขอนำมาแชร์ไว้เป็นข้อคิดสำหรับคนที่สนใจ จากคู่มือฯ เขาจะแบ่งการตรวจเช็คความปลอดภัยไว้ 2 ส่วน คือ การตรวจเช็คความปลอดภัยภายนอกบ้าน กับการตรวจเช็คความปลอดภัยภายในบ้าน
การตรวจเช็คความปลอดภัยนอกตัวบ้าน ที่ควรจะให้ความสำคัญ เช่น
กระถางต้นไม้ตามระเบียงบ้านควรจะวางให้ห่างจากขอบระเบียงเข้ามาในระยะที่คิดว่ากระถางล้มแล้วจะไม่ตกลงไปข้างล่าง โดยเฉพาะตามระเบียงบ้านที่อยู่ชั้นสอง เจ้าของบ้านบางคนก็จะหาต้นไม้เล็กๆ มาปลูกใส่กระถางเอาไว้ นำมาตั้งไว้ที่ขอบระเบียง ซึ่งมันก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่เราจะออกไปยืนรับลม หรือดูแลต้นไม้อยู่ที่ระเบียงแล้วเผลอไปชนกระถาง จนกระถางต้นไม้ตกลงมาจากระเบียงไปโดนคนที่อยู่ด้านล่าง หรือทรัพย์สิน ข้าวของ รถยนต์ที่จอดอยู่ด้านล่าง
กระเบื้องหลังคาอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีแผ่นไหน เผยอ หลุดออกจากกัน หรือมีแผ่นไหนแตกเป็นชิ้นส่วนอยู่บนหลังคา เพราะเศษกระเบื้องหลังคาอาจจะไหลตกลงมาข้างล่างได้
คอมเพรสเซอร์แอร์ตั้งอยู่ในจุดที่มั่นคง ด้วยความที่พื้นที่มีจำกัด บ้านบางหลังจำเป็นต้องวางคอมเพรสเซอร์แอร์เหมือนเอาไปแอบๆ ไว้ตามระเบียง หรือซึ่งถ้ายึดไว้ไม่แข็งแรงพอ อาจจะตก หล่นลงมาด้านล่างได้
ตรวจสอบความมั่นคงของกำแพงหรือรั้วบ้าน ลองเช็คดูว่า กำแพงมีการเอนตัว หรือร้าว แตก ทรุดตัวมั้ย ถ้าพบให้รีบปรึกษาวิศวกรหรือผู้เชี่ยชาญมามาประเมินความเสียหาย และจัดการแก้ไขทันที หรือหาเหล็กหรือไม้มาค่ำยันเอาไว้ก่อน ป้องกันกำแพงล้มทับลงมา เรื่องการตรวจสอบรอยร้าวตามกำแพง หรือรั้วบ้าน เราได้นำบทความเกี่ยวกับการตรวจเช็ครั้วหรือกำแพงบ้าน ที่อาจารย์ยอดเยี่ยมท่านได้เขียนไว้เป็นบทความตอนหนึ่ง มาลงไว้ หาอ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://community.akanek.com/th/articles/akanekjaja/fence-check-up
ประตูหนีไฟ ทางออกฉุกเฉินห้ามไม่มีสิ่งกีดขวาง ขวางทาง ข้อนี้สำหรับคนที่อยู่คอนโดฯ หรือตึกแถวที่จะมีประตูหนีไฟหรือทางออกฉุกเฉิน ควรจะเป็นทางโล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือวัสดุไวไฟมาวางกองขวางประตูหรือทางออก
สำรวจความพร้อมของประตู หน้าต่าง ของทางออกฉุกเฉิน หรือบันไดหนีไฟว่า สามารถเปิด-ปิดได้สะดวก (ข้อนี้ ขออนุญาตเพิ่มเติมเข้ามาเอง เพราะเคยเจอว่าประตู หน้าต่าง ทางออกฉุกเฉินของบางแห่ง ถูกปล่อยทรุดโทรม ประตูฝืนเปิดไม่ออกบ้าง บางที่ก็ล็อกแม่กุญแจเอาไว้ พอเอาลูกกุญแจมาไข ไขไม่ออก) ถ้ามีอาการฝืด หรือใช้งานไม่ได้ ให้แก้ไขจนสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปรกติ
การตรวจเช็คความปลอดภัยภายในบ้าน ที่สำคัญๆ เช่น
เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ภายในห้องต่างๆ ไม่ควรจะมีเกินความจำเป็นใช้งาน เพราะจะยิ่งทำให้เหลือพื้นที่ว่างในบ้านน้อยลง
ถ้าเป็นห้องพักของผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือเด็ก ควรจัดเฟอร์นิเจอร์เฉพาะที่จำเป็นเพื่อให้ห้องดูโปร่งสบายมากที่สุด และไม่ควรตั้งเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ไม่มั่นคงแข็งแรงใกล้เตียงนอน ป้องกันเฟอร์นิเจอร์ล้มทับหากผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือเด็ก เอื้อมคว้า หรือจับยึด
ถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ สูง และเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ควรวางชิดผนังให้มากที่สุด ถ้าไม่มั่นใจว่ามั่นคงดีก็ให้ยึดเฟอร์นิเจอร์ให้มั่นคงด้วยเหล็กตัวแอลยึดเฟอร์นิเจอร์กับผนังเอาไว้ ป้องกันล้มลงมา หรือถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเลี่ยงเฟอร์นิเจอร์ทรงสูงผอม เพราะมีโอกาสล้มลงมาได้ง่ายกว่าเฟอร์นิเจอร์ทรงกว้างเตี้ย
หากเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ไม่มั่นคงแข็งแรงมากนัก ให้เสริมตัวรองใต้เฟอร์นิเจอร์ (ตัวรองเฟอร์นิเจอร์ จะเป็นพวกแผ่นยางสังเคราะห์สอดไว้ใต้โต๊ะ ตู้ ช่วยให้เฟอร์นิเจอร์วางได้มั่นคงขึ้น และยังช่วยรับแรงกดทับของเฟอร์นิเจอร์ ป้องกันพื้นเป็นรอยขูดขีดจากเฟอร์นิเจอร์ได้ด้วย
ของหนักเก็บด้านล่าง ของเบาเก็บด้านบน เวลาเก็บของใส่ตู้หรือชั้นวางของ ควรเก็บของที่มีน้ำหนักมากไว้ชั้นล่าง ส่วนของเบาๆ เก็บไว้ที่สูงได้ เพราะว่าของที่มีน้ำหนักมากๆ จะไปช่วยถ่วงน้ำหนักชั้นวางของให้มั่นคงขึ้น ไม่โยกเยกหรือล้มลงมา
นี่เป็นคำแนะนำง่ายๆ ของการสร้างความปลอดภัยในการอยู่อาศัยที่เจ้าของบ้านคนหนึ่งสามารถทำได้เอง อาจจะกระทบการใช้ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ บ้าง หรืออาจจะทำให้บ้านสวยน้อยลงไปสักนิด แต่ก็ได้เรื่องความปลอดภัยให้กับสมาชิกทุกคนในบ้านกลับคืนมา ถ้ามันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไป เอกเขนกก็ recommend ว่าทำเถอะคะ เพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
เครดิตเว็บไซต์ : http://community.akanek.com/th/content