มารู้จักรอยร้าวบ้านแต่ละประเภทกัน

55198 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มารู้จักรอยร้าวบ้านแต่ละประเภทกัน

เรื่องรอยร้าวที่เกิดขึ้นภายในบ้าน เป็นอะไรที่สั่นคลอนขวัญเจ้าของบ้านได้ทุกครั้งที่เห็น ที่ต้องมาลุ้นว่าบ้านจะทรุด ยุบ พัง ถล่มลงมาอย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวมาแล้วหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงร้อยร้าวที่เพียงแค่ทำให้บ้านเราสวยน้อยลงแต่ไม่เป็นปัญหากับตัวโครงสร้างอย่างไร เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เผอิญได้อ่านหนังสือ “3 ร้อยพันบริหาร จากอีเมลล์ของยอดเยี่ยม” ที่อาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ เขียนขึ้นเพื่อรวบรวมเอาอีเมลล์เรื่องราวต่างๆ ที่เคยส่งให้กับลูกศิษย์ลูกหาหลายคน และตอนหนึ่งท่านเขียนถึง รอยร้าวชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ในภายในบ้านหรืออาคารซึ่งมีได้ 20 ประเภท ปัญหาเรื่องรอยร้าวนี้ อาจารย์ยอดเยี่ยมบอกว่าจะมีคำถามเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ไป จนแทบจะเรียกได้ว่า "ไม่มีบ้านหลังไหนใดเมืองไทยไม่มีรอยร้าว ก็ไม่น่าจะผิด"ในหนังสือ อาจารย์เลือกพูดถึงรอยร้าว ๖ ประเภท ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับรอยร้าวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา โดยกล่าวถึงสาเหตุและเสนอวิธีแก้ปัญหาของรอยร้าวที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวบ้านและสังคม AKANEK ขอไม่พูดถึงเรื่องบ้านเมือง แต่เนื่องจากเห็นว่าเรื่องรอยร้าวนั้นน่าสนใจเพราะเป็นปัญหาคาใจของหลายๆ คน จึงขออนุญาตอาจารย์ยอดเยี่ยมนำเนื้อหาเรื่องรอยร้าวที่พบบ่อยในบ้านมาเผยแพร่ต่อ เผื่อว่าใครกำลังมีปัญหาบ้านร้าว จะได้ทราบว่ารอยร้าวที่มีนั้น มีที่มาที่ไป และวิธีแก้ไขอย่างไร รอยร้าวทั้ง 6 ประเภทที่อาจารย์พูดถึงคือ

รอยร้าวกลางคาน มักจะเกิดจากอะไร อันตรายถึงชีวิตหรือไม่
รอยร้าวเป็นสิ่งคู่บ้านคู่อาคาร เพราะแทบจะไม่มีอาคารบ้านเรือนหลังไหนเลยที่จะไม่มีรอยร้าว แต่รอยร้าวบางอย่างเป็นรอยร้าวที่อาจจะมีอันตรายกับเราได้ เช่น รอยร้าวที่กลางคาน ที่เป็นรอยร้าวอันเกิดขึ้นจากคอนกรีต ไม่ใช่ปูนฉาบที่มีรอยร้าวเป็นแนวตั้ง ตั้งฉากกับแนวนอนของคานที่ตรงกลางของคาน หากร้าวมากหน่อยจะเห็นเป็นรอยร้าวที่ด้านใต้คาน จะกว้าง (อ้า) มากกว่าตอนช่วงบนของคาน
อาการแบบนี้แสดงว่า คานตัวนั้นต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ จึงเกิดการแอ่นตัวลงมาเป็นแนวโค้ง พอแอ่นตัวก็จะทำให้คอนกรีตแตกแยกออกเป็นรอยที่เห็น สิ่งที่น่าจะทำแรกสุดก็คือวิ่ง (เบาๆ) ขึ้นไปดูข้างบนว่าตรงบริเวณของคานตัวนั้น เราวางอะไรหนักๆ ทับเอาไว้หรือไม่ หากวางของหนักเอาไว้ ก็ต้องรีบเอาน้ำหนักนั้นออกโดยเร็วและคานจะมีโอกาสกลับเข้าที่เดิมได้บ้าง แต่หากสำรวจแล้ว ไม่มีน้ำหนักอะไรวางไว้เป็นกรณีพิเศษเลย ก็แสดงว่าคานตัวนั้นอาจจะรับน้ำหนักของระบบโครงสร้างของตัวเองก็ยังไม่ได้ ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่การใช้งานของเรา ต้องมีการตรวจสอบโดยผู้รู้ต่อไป

ปัญหาการผิดปกติของโครงสร้างนี้ เป็นสาเหตุเริ่มต้นของอาคารวิบัติ กรุณาอย่านิ่งนอนใจ ต้องปรึกษากับวิศวกรโครงสร้างเสมอ เพื่อประโยชน์สุขของตัวเราเอง หากสังคมเกิดรอยร้าวเช่นนี้ เราต้องสำรวจว่ามีปัญหาอะไรมากดทับและลักษณะการกดทับนั้นเป็นอย่างไร เราต้องหาเหตุและที่มาของปัญหาเหล่านั้น คิดหาแนวทางที่จะเอาปัญหาที่กดทับนั้นออกไป หลังจากนั้นเราก็เริ่มช่วยกันดำเนินการที่จะยกปัญหานั้นออกไป หากเป็นปัญหาใหญ่ การยกปัญหาออกไปครั้งเดียวอาจจะทำได้ยาก ก็ต้องย้ายปัญหานั้นไปสู่ที่ที่อันตรายน้อยลง ย่อยปัญหานั้นให้เล็กลง แล้วก็นำปัญหานั้นออกไปแม้จะเสียเวลาไปบ้าง เราต้องพยายามช่วยกัน ต้องช่วยกันตรวจสอบรอยร้าว ตรวจสอบหาปัญหา และต้องช่วยกันแก้ปัญหา สังคมจะอยู่ได้อย่างสงบสุข

รอยร้าวเฉียงๆ ที่ผนังจากมุมล่างซ้ายไปมุมขวาบน (หรือกลับกัน)
รอยร้าวแบบนี้แสดงว่าโครงสร้างมีการบิดตัว มักจะเกิดเพราะเสาของบ้านเรามีการทรุดตัวที่แตกต่างกัน และคานที่รัดเสาก็พยุงเสาเอาไว้ให้อยู่ในระนาบเดียวกันไม้ได้ อาจจะเป็นเสาซ้ายมือทรุดตัวมากกว่าเสาขวามือ หรือเสาขวามือทรุดตัวลงมากกว่าเสาซ้ายมือก็ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ เสาที่ทรุดลงก็พยายามจะดึงโครงสร้างอื่นให้ตามลงไป ส่วนโครงสร้างอื่นก็ไม่ค่อยจะยอมตามไปง่ายๆ ผนังซึ่งเป็นตัวกลางของการชักเย่ออยู่ก็เลยทนไม่ไหว เกิดอาการแตกร้าวขึ้น
การแตกร้าวแบบนี้ หากเป็นรอยเพียงเล็กๆ สั้นๆ ก็ยังไม่เป็นไร แต่ต้องเอาดินสอขีดกาเอาไว้ (พร้อมลงวันที่) เพื่อบันทึกว่าจะมีการแตกร้าวขยายตัว (ทั้งทางยาวและทางกว้าง) หรือไม่ หากการแตกร้าวนั้นหยุดตัวไม่ขยายออกไป ก็ไม่เป็นอันตรายอะไรนักหนา แต่ถ้าหากว่ารอยแตกร้าวนั้นมีอาการลามตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นรอยที่กว้างและยาว (บาครั้งจะเห็นอิฐของผนังโผล่ออกมาเป็นก้อนเชียว) ก็แสดงว่าอาคารบ้านเรือนของเรา ป่วยเป็นไข้ไม่เบาแล้ว รีบไปปรึกษาหาทางแก้ไขกับวิศวกรโครงสร้างดีกว่าการป่วยไข้ของงานโครงสร้าง หรือการมีพฤติกรรมไม่ปกติของตัวบ้านของเรา เราต้องอย่าพยายามเอาอะไรไปปกปิดร่อยรอยเหล่านั้น เพราะไม่ได้ช่วยให้เกิดความปลอดภัยขึ้น หากสังคมเราเกิดรอยร้าวเช่นนี้ ก็หมายความว่าสังคมอาจจะขาดความเท่าเทียมกัน หรือสังคมมอบโอกาสต่อ
คนในสังคมที่แตกต่างกัน บางภาคส่วนอาจจะใช้โอกาสที่มีมากกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเชิงวัตถุหรือเชิงอำนาจ การแก้ปัญหาก็คือ ต้องพยายามให้เกิดความเสมอภาคและยุติธรรมกับภาคส่วนทั้งหลาย ทำให้สังคมเกิดความหลากหลายที่มีความสมดุลแต่ทั้งนี้เราต้องตีความ ความเสมอภาคอย่างถูกต้อง เพราะความเสมอภาคคือความเสมอภาค ต้องไม่ใช้คำว่าความเสมอภาคเป็นประเด็นเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น สังคมก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุขถ้วนหน้า


เห็นรอยร้าวที่หัวเสา ต้องรีบไปทำประกันชีวิตกี่บาท
รอยร้าวที่นับว่าเป็นอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งในบ้านของเราก็คือ รอยร้าวลักษณะเฉียงๆ ที่หัวเสา ตรงส่วนที่คานไปติดกับเสาทั้งสองด้าน อาจจะเป็นรอยเฉียงๆที่ปลายคานหรือที่หัวเสาเลยก็ได้
อาการแบบนี้ แสดงว่าโครงสร้างของอาคาร (คอนกรีตเสริมเหล็ก) ในแต่ละส่วนกำลังแยกออกจากกัน แยกกันทำงาน ไม่เชื่อมประสานกัน คานและเสาซึ่งเคยถักทอเป็นโครงสร้างใหญ่ กำลังแยกออกจากกัน ต่างคนต่างอยู่ อาคารวิบัติที่ถล่มลงมา มักเกิดอาการเช่นนี้ให้เห็นก่อนเสมอเมื่อคานโครงสร้างตัวนั้น (ตัวที่มีรอยออกจากหัวเสา) ไม่สามารถจะรับน้ำหนักได้ เกิดแรงเฉือนขึ้น และคานอาจจะหลุดออกจากหัวเสา ครั้นเมื่อคานหลุดออกจากหัวเสา ระบบโครงสร้างก็วิบัติ อาจจะทำให้อาคารทั้งหลังพังราบลงมานอนกับพื้น และอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเราหนีออกจากบ้านไม่ทัน หากเราเห็นอาการร้าวแบบนี้แล้ว มีสองทางเงือกสำหรับเรา ทางเลือกแรกก็คือ รีบวิ่งไปติดต่อกับบริษัทประกันชีวิตไว้ เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังต้องลำบากเรื่องทรัพย์สิน หรือทางเลือที่สองก็คือ รีบไปปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง ให้ท่านมาตรวจอาการให้คำแนะนำและแก้ไขอย่างทันท่วงทีอย่าปล่อยให้สังคมไทยมีรอยร้าวเช่นนี้เป็นอันขาด เพราะอาการเช่นนี้คือความแตกแยกของสังคมทางความเชื่อและความคิดที่รุนแรง อันนำมาซึ่งความแตกแยกของการใช้ชีวิตและการเลือกกลุ่มสังคม อาการความแตกแยกนี้อาจจะเป็นเพราะความเข้าใจผิดในสังคมเองหรืออาจจะเกิดการกระทำของผู้โลภมาก ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือมาจากนอกประเทศก็ตาม เพราะความแตกแยกของสังคมไทยเรา อาจสร้างประโยชน์เชิงวัตถุกับผู้ประสงค์รายนั้นอย่างยิ่ง เราต้องคอยดูแลไม่ให้ชาติไทยเดินกันไปคนละทิศคนละทาง แยกกันทำงานและขัดแย้งกันจนแตกแยกเช่นนี้เด็ดขาด เราต้องใช้ความเข้าใจและความถูกต้องและยุติธรรมเป็นสิ่งแก้ปัญหาตัดสินเสมอ

ร้าวแตกเป็นลายยังกับชามสังคโลก อันตรายแค่ไหน
ส่วนใหญ่อาการนี้มักจะเกิดตามผนังฉาบปูน รอยแตกร้าวจะกระจายเต็มไปหมดเหมือนกับรอยแตกของถ้วยสังคโลก รอยแตกร้าวแบบนี้ส่วนใหญ์จะไม่มีอันตราย แต่มักจะทำอารมณ์เสียเพราะความไม่น่าดู หรืออาจจะเป็นตัวเชื้อเชิญน้ำให้ซึมผ่านหนังนอกบ้านให้เข้ามาในตัวบ้านเราได้
ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดเพราะปูนฉาบคุณภาพไม่ดี หรือช่างฉาบปูนไม่มีความชำนาญ หรือเร่งฉาบปูนเกินไปเมื่อก่ออิฐเพิ่งเสร็จ (และปูนสอก้อนอิฐยังไม่เซ็ทตัว) ลองเคาะดูที่ผิวปูนฉาบนั้น หากมีเสียงเป็นโพรงแสดงว่า ปูนฉาบไม่เกาะกับผนังและพร้อมที่จะหลุดร่วงลงมา หากเกิดปัญหานี้อย่าเอาปูนซีเมนต์ไปอุดรอยหรือไล้บางๆเด็ดขาด เพราะเจ้าปูนก็จะหลุดร่วงลงมาอีก ต้องทำการสกัดผิวปูนฉาบเดิมออกแล้วฉาบปูนใหม่ทับลงไป แต่หากเคาะแล้ว ไม่มีเสียงโปร่งๆ ยังคงเป็นเสียงทึบๆ แสดงว่าเจ้าปูนฉาบยังเกาะกับผิวผนังดีอยู่ ไม่หลุดออกจากกัน รอยแตกร้าวนั้นน่าจะเป็นรอยแตกร้าวเพียงที่ผิวของปูนฉาบเท่านั้น การที่เราจะไปทุบปูนฉาบเดิมออกแล้วฉาบใหม่อาจจะเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยาก ก็อาจจะแก้ไขกันที่ปลายเหตุได้ด้วยการทาสีใหม่ทับลงไป โดยให้ช่างสีโป๊ว (แบบการโป๊วสีรถยนต์) ให้เรียบร้อยก่อน อาการเหล่านี้ก็จะดียิ่งขึ้น หากสังคมของเรามีรอยร้าวแตกลายงาเช่นชามสังคโลก ก็แสดงว่าสังคมเรานั้นยังเข้มแข็งอยู่ ไม่เป็นปัญหาของโครงสร้างสังคม ปัญหาที่ชวนหงุดหงิดนั้นเป็นปัญหาปลายเหตุ เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่ใช่ปัญหาหลัก
การพยายามทำความเข้าใจและการ “ลืม” หรือการ “ให้อภัย” อะไรเล็กๆบางอย่าง ก็น่าจะทำให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้นได้ แม้บางครั้งจะเป็นการแก้ปัญหาหรือยอมกันที่ “ปลายเหตุ” ก็อาจจะเป็นเรื่องทีต้องทำกันเพราะสิ่งนั้นจะทำให้สังคมไทยขับเคลื่อนความสุขต่อไปได้


รอยร้าวเฉียงๆ ที่มุมวงกบประตู
รอยร้าวที่มักจะเกิดที่มุมวงกบประตูหน้าต่างเป็นรอยเฉียงๆ พุ่งออกไปจากมุมของวงกบ บางทีก็มีสองมุม บางครั้งก็มีครบทั้งสี่มุมเลย
อาการแบบนี้มักไม่มีอันตรายอะไร แต่จะเป็นจุดที่เชื้อเชิญน้้ำอันไม่พึงประสงค์เข้ามาในบ้าน ดูไม่สวยงาม และหากแตกมากๆ ก็จะเกิดอาการวงกบบิดตัวบานประตู หน้าต่างตก จะปิดจะเปิดประตูหน้าต่างแต่ละครั้ง ไม่ลื่นคล่องมือ อย่างที่เคยเป็น วิธีการป้องกันเหตุไม่ให้เกิดก็คือ ต้องทำเสาเอ็นทับหลังให้ถูกต้อง การฉาบปูนจะต้องได้คุณภาพทั้ง วัสดุผสมและความหนา แต่หากเหตุเกิดขึ้นแล้วแต่เป็นรอยไม่ใหญ่นัก ก็อาจจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการเอาวัสดุยาร่อง ที่ยืดหยุ่นได้ไปฉีดอัดเสีย (เช่น พวกซิลิโคน หรืออะคริลิค) หากรอยนั้นใหญ่พอประมาณแล้ว ก็อาจจะต้องสกัดรอยแตกนั้น แล้วอุดยาด้วยวัสดุที่ไม่หดตัว เช่น ปูนซีเมนต์พิเศษชนิดไม่ยืดหดตัว (Non Shrink Cement) อุดไว้แล้วฉาบปูนใหม่ (อย่าใช้ปูนทรายธรรมดา เพราะเมื่อแห้งแล้วจะมีการหดตัว ทำให้เกิดร่องของการแตกร้าวได้อีก) หากสังคมเกิดรอยร้าวเป็นรอยเฉียงๆ เช่นนี้ ก็หมายความว่าความแตกแยกที่เกิดขึ้น เกิดจากการทำงานที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของสังคมผู้ปฏิบัติงานระดับที่ต้องประมานระหว่างผู้บริหารและมวลชนโดยทั่วไปไม่ทำงาน ไม่ทำหน้าที่ หรือการวางแนวทางบริหารขาด “ผู้ประสาน” ที่เข้าใจในปัญหาและความต้องการ หากสังคมเกิดปัญหานี้ มีวิธีแก้ไขโดยให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ หากส่วนใดของการบริหารหรือการทำงานขาดหายไป ก็ต้องเพิ่มเติมให้ครบถ้วน และหากไม่ใช่ปัญหาใหญ่มากนัก การค้นแสวงหา “กาวประสาน” ก็อาจจะเป็นการแก้ปัญหาได้ แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็ตาม แต่พึงทราบอยู่เสมอว่า ในการทำงานครั้งต่อไป อย่าขาดตกบกพร่องที่หน่วยงานและวิธีกรรมต่างๆ สังคมก็จะขับเคลื่อนไปได้อย่างไม่มีทุกข์

ไม่เข้าใจบางพลี-ดอนเมือง ร้าวจนพัง สร้างบ้านเหมือนกันที่บางพลีและดอนเมือง ใช้เข็มยาวเท่ากัน?
การที่เราตอก (หรือเจาะ) เสาเข็ม ก็เพื่อให้เสาเข็มนั้นช่วยรับน้ำหนักของบ้านเสาเข็มนั้นรับน้ำหนักได้ ก็เพราะตรงผิวของเข็มนั้นมีแรงฝืดที่เสียดทานกับดินรอบๆ ตัวเข็ม แต่ถ้าหากเป็นเข็มที่มีความยาวมากหน่อย ปลายเข็มก็จะไปนั่งอยู่บนชั้นทรายหรือชั้นดินแข็ง ทำให้เข็มนอกจากจะรับน้ำหนักได้ด้วยแรงผืดแล้ว ยังมีการถ่ายน้ำหนักไปที่ชั้นทรายด้วย จึงทำให้เข็มยาวๆ สามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น
แต่การพิจารณาการรับน้ำหนักของเสาเข็ม จะพิจารณาเฉพาะขนาดหรือความยาวของเสาเข็มไม่ได้ ต้องพิจารณาถึงสภาพของดินที่จะทำการก่อสร้างนั้นด้วย
ในกรณีของบางพลีและดอนเมืองนั้น ต้องพิจารณาคำไทยโบราณคงพอได้ความรู้สึกว่า “ดอน” จะเป็นพื้นที่ที่เป็นดอน ไม่ค่อยมีน้ำหรือดินเหลวๆ แต่ประเภท “หนอง” หรือ “บาง” จะเป็นที่มีน้ำ หรือยู่ติดน้ำ ทำให้ลักษณะดินพื้นฐานจะมีความแตกต่างกัน โดยข้อมูลที่บันทึกเอาไว้จะพบว่า ดอนเมืองจะมีดินที่รับน้ำหนักได้มากกว่าบางพลี เพราะมีดินที่แน่นกว่า อีกทั้งชั้นทรายหรือดินแข็ง ของดอนเมืองก็จะอยู่ตื้นกว่าบางพลี ทำให้เข็มขนาดเดียวกันที่เหมาะสมกับการรับน้ำหนักที่ดอนเมือง จะไม่เพียงพอหากไปก่อสร้างที่บางพลี เพราะลักษณะดินที่บางพลีรับน้ำหนักสู้ดอนเมืองไม่ได้ (บางพลีต้องการเข็มที่ยาวกว่า) มิฉะนั้นจะเกิดการ “แตกร้าว” หรือเกิด “อาคารวิบัติ” ได้โดยไม่รู้ตัว กรณีที่เกิดขึ้นนี้ หากพิจารณาในเชิงของปัญหาสังคม ก็คือการยอมรับในความแตกต่างของหน่วยของสังคมที่แตกต่างกัน แต่ละหน่วยมีจุดอ่อนและจุดแข็งที่แตกต่างกัน เราต้องศึกษาข้อมูลและเข้าใจปัญหา และความต้องการพื้นฐานของสังคมให้ถ่องแท้ก่อนจะดำเนินการใดๆ จึงเป็นข้อคิดว่า การทำให้สังคมแข็งแรงต้องเริ่มต้นด้วยความสมดุลขององค์ประกอบต่างๆ จะดำเนินการใดในสังคม ต้องมีข้อมูลที่เชือถือได้และต้องผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพราะเรื่องบางเรื่องอันตรายมากกว่าที่เราคิดไว้มากมาย

ขอบคุณอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพทรานนท์ ที่อนุญาติให้นำบทความมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานเพื่อประโยชน์สุขของสาธารณชนค่ะ
เครดิตเว็บไซต์ http://community.akanek.com/th/articles/akanekjaja/types-of-building-cracks

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้